ความฉลาดทางดิจิทัล (DQ) กับระบบการศึกษา
นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงตอนนี้ เรารู้จักความฉลาดทางด้านต่าง ๆ (Quotient) ตั้งแต่ไอคิว (IQ – Intelligence Quotient) ความฉลาดทางด้านสติปัญญา ไปจนถึงอีคิว (EQ – Emotional Quotient) ความฉลาดทางอารมณ์ แต่ในปัจจุบันมีความฉลาดอีกด้านหนึ่งที่เราควรทำความรู้จักคือ ดีคิว (DQ – Digital Quotient) หรือความฉลาดทางด้านดิจิทัลนั่นเอง
DQ คืออะไร
หลาย ๆ คนคิดว่าความฉลาดทางดิจิทัล (Digital Quotient) เกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ DQ เป็นตัววัดความเป็นไปของคุณบนโลกดิจิทัล ตัวย่อนี้ได้รับการบัญญัติโดย DQ Institute ในปี 2016 และโดยหลักการแล้วมันคือกระบวนการรับรู้ การจัดการอารมณ์ และทักษะทางสังคมที่ทำให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายบนโลกดิจิทัล
เรามาถึงยุคสมัยที่เด็ก ๆ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเสพสื่อใหม่ ๆ บนแพลตฟอร์มที่หลากหลายได้ด้วยตัวเอง แต่เราจะพัฒนาความฉลาดทางด้านดิจิทัลให้กับเด็กอย่างไรให้พวกเขาใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับยุคดิจิทัลเพราะทักษะทางด้านดิจิทัลมีความจำเป็นต่อการประกอบอาชีพใหม่ ๆ ในอนาคตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราต้องสอนเด็ก ๆ ให้มีทักษะความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ความฉลาดทางด้านอารมณ์บนโลกดิจิทัล (Digital Emotional Intelligence) และการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย
Digital Literacy: ทักษะความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัล
ทักษะความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิทัลยังคงเกี่ยวข้องกับการอ่านและการเขียน แต่การใช้งานเทคโนโลยีของมนุษย์เราเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา Digital Literacy จึงรวมถึงการประเมินความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ การผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ ไปจนถึงการแชร์คอนเทนต์ด้วย ตามคำจำกัดความของ American Library Association ที่ว่า “Digital Literacy คือ ความสามารถในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลโยการสื่อสารในการสรรหา ประเมิน ผลิต และส่งข้อมูลข่าวสาร โดยอาศัยทั้งทักษะการรับรู้และทักษะทางเทคนิค” (Heitin 2019)
Digital Emotional Intelligence: ความฉลาดทางด้านอารมณ์บนโลกดิจิทัล
โดยพื้นฐานแล้วความฉลาดทางด้านอารมณ์บนโลกดิจิทัลหมายถึง ความสามารถในการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกผ่านการตอบสนองบนแพลตฟอร์มดิจิทัล และส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด หรือแม้แต่การตัดสินใจของเรา ขออธิบายให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของหุ่นยนต์หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI – Artificial Intellignce) ที่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่คือ อารมณ์ของมนุษย์ที่ถ่ายทอดผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลและเทคโนโลยี อาจเป็นอีเมล ข้อความ ไปจนถึงอีโมทิคอน (Emoticon) และอีโมจิ (Emoji) การสอนให้เด็กมีความสามารถในการรับมือหรือเข้าใจและประมวลผลอารมณ์ความรู้สึกนับเป็นส่วนสำคัญในการเลี้ยงดู แต่ด้วยช่องทางการถ่ายทอดอารมณ์ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจจึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าที่เคยเป็นมา
การท่องโลกอินเทอร์เน็ต (อย่างปลอดภัย)
ในโลกที่เด็ก ๆ ใช้งานอินเทอร์เน็ตในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นการศึกษาไปจนถึงความบันเทิง การรับประกันความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ของพวกเขาจึงถือว่าเป็นเรื่องท้าทายกว่าแต่ก่อนมาก บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของผู้ปกครองคือ การตั้งกฎประจำบ้านเพื่อปกป้องลูก ๆ ให้ปลอดภัยจากคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมกับวัยบนอินเตอร์เนต อย่างไรก็ดี วิธีการที่มีประสิทธิภาพกว่าการห้ามอยู่ตลอดเวลาคือ การสอนเด็ก ๆ อย่างถูกต้อง ในคาบเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี ควรมีการสอนเด็ก ๆ เรื่องการคัดกรองและประเมินความปลอดภัยของเนื้อหาบนสื่อต่าง ๆ รวมไปถึงวิธีการสื่อสารกับผู้คนบนโลกออนไลน์และความเสี่ยงจากการแชร์รูปภาพและข้อมูลต่าง ๆ ด้วย
การเพิ่มพูน DQ
การเพิ่มความฉลาดทางดิจิทัลในตัวเด็กสามารถทำได้โดยการสอนให้พวกเขาเป็นพลเมืองดิจิทัล (Digital Citizen) เช่นเดียวกับการเป็นพลเมืองของชาติไหนก็ตาม ย่อมมีเรื่องของตัวตน กฎ ข้อปฏิบัติ และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เราสามารถสอนเด็ก ๆ เรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการแชร์ข้อมูลส่วนตัวไปบนโลกออนไลน์ สอนให้พวกเขาสามารถแยกแยะ หลีกเลี่ยง และรับมือกับไซเบอร์บูลลี่ (Cyberbullying) ได้ และสุดท้าย เราสามารถพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) ของพวกเขา เพื่อให้พวกเขามีความสามารถในการประเมิน แยกแยะ และจัดการกับข้อมูลหรือผู้คนที่พบเจอบนโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การที่เราสนับสนุนเด็ก ๆ ขณะที่พวกเขาเรียนรู้ที่จะเข้าใจและสำรวจโลกดิจิทัล รวมไปถึงการจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อให้เด็กอยู่สามารถเอาตัวรอดและเติบโตไปเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพได้ต่อไป
แหล่งอ้างอิง:
Heitin, Liana. “What Is Digital Literacy?” Education Week, 20 Feb. 2019, https://www.edweek.org/ew/articles/2016/11/09/what-is-digital-literacy.html.